บทความ เนื้อเรื่อง หรือ คำอธิบาย โดยละเอียด
มังคุด: เรื่องน่ารู้และประโยชน์ใช้สอย |
คงไม่มีใครไม่เคยได้ยิน "มังคุด" ราชินีผลไม้ที่แสนจะอร่อยและเป็นผลไม้โปรดของใครหลายคน (รวมถึงตัวผมเองด้วย) แต่ก็เชื่อว่าหลายคนคงไม่เคยเห็นและสัมผัสกับต้นหรือดอกของมันจริงๆ วันนี้เราจะมาดูกันว่าไอ้ผลไม้กลมๆ สีม่วงๆ เนื้อขาวๆ นั่นมาจากดอกและต้นที่มีลักษณะเช่นไร และมีประโยชน์อื่นๆ อีกหรือไม่ครับ มังคุด (Garcinia mangostana L.) อยู่ในวงศ์ Guttiferae (Clusiaceae) เป็นไม้ต้นสูงประมาณ 6-25 เมตร เชื่อกันว่ามังคุดที่ปลูกในประเทศไทยมีพันธุ์เดียว เรียกกันว่าเป็นพันธุ์พื้นเมือง (แม้จะพบว่ามังคุดสายพันธุ์จากเมืองนนท์มีผลเล็กและเปลือกบางกว่ามังคุดภาคใต้ แต่ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนพอที่จะแยกเป็นพันธุ์ได้) มียางเหนียมหนึบสีเหลืองรสขมปี๋ (อย่างที่เราเจอตามลูกมันไงครับ) ใบออกตรงข้าม ตามปกติ มังคุดออกดอกปีละครั้ง (ถ้าแห้งแล้งจะออก 2 ครั้ง/ปี) ดอกมักจะออกตรงปลายกิ่ง อาจจะเป็นดอกผู้หรือกระเทยก็ได้ ดอกกระเทยมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียว กลีบดอก 4 กลีบ สีเขียวเหลือง ขอบกลีบสีแดง ร่วงเร็วมาก มียอดเกสรตัวเมียเป็นแฉกๆ สั้นๆ (มีก้านชูเกสรตัวเมียสั้นมากๆ ด้วยครับ) (ซ้ายมือ) ดอกของมังคุดเมื่อแรกออก เราจะเห็นเพียงกลีบเลี้ยง และเมื่อดอกบาน (ขวามือ) เราเราจะพบกลีบดอกสีเขียวเหลืองขอบสีชมพู อยู่เหนือกลีบเลี้ยงสีแดง (ด้านนอกของกลีบเลี้ยงจะมีสีเขียว แต่สีแดงที่เราเห็นคือด้านในกลีบเลี้ยง) ในระยะนี้เราจะเห็นยอดเกสรตัวเมียเป็นกระจุกอยู่ตรงกลางและมีขนาดใหญ่กว่ารังไข่ ผลกลมสีเขียวเมื่อดิบ และสีม่วงเมื่อสุก บนหัวลูกจะมีกลืบเลี้ยงสีเขียวติดอยู่ 4 กลีบ และมียอดเกสรตัวเมีย (stigma) ติดอยู่ส่วนก้นลูก เกสรตัวผู้มีเป็นหมัน ศัพท์เทคนิคเรียกว่า สตามิโนด (staminode) จำนวนยอดเกสรตัวเมียจะบอกถึงจำนวนเม็ดภายในรังไข่ครับ (ซ้ายมือ) ต่อมากลีบจะร่วงและรังไข่จะเจริญใหญ่ขึ้นจนเป็นผล และยอดเกสรตัวเมียก็ยังติดอยู่ ต้นมังคุดเนี่ยจะออกดอกเมื่อายุได้ 7 ปี และจะให้ผลผลิตเต็ที่เมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไป เกษตรกรจะเก็บลูกเมื่อลูกเริ่มมีจุดประสีแดงมากมาย เราเรียกระยะนี้ว่า "ระยะสายเลือด" ถ้าเก็บตอนเขียวๆ รับรองชาตินี้ก็ไม่สุกหวานอร่อยแน่ๆ ครับ มังคุดเป็นต้นไม้ที่แปลกครับ เพราะเป็นผลไม้ชนิดเดียวที่ไม่มีการเปลี่ยนทางพันธุกรรม เนื่องมาจากว่าเม็ดจะเจริญมาจากส่วนของเนื้อเยื่อลำต้น (partenogenesis) ไม่ใช่จากการปฏิสนธิ เม็ดที่ได้นี้จะมีชีวิตเพียง 2-3 วันเท่านั้นเองครับ การขยายพันธุ์ของพืชนี้จะใช้เม็ดเท่านั้น ประโยชน์ ผล: คนไทยส่วนใหญ่จะกินผลสดกันครับ การเลือกก็ไม่ยากมากมายอะไร จับลูกขึ้นมา บีบเปลือกพอควร (ไม่ต้องบีบจนยุบนะจ๊ะ) ดูว่ามันมีรอยช้ำหรือไม่ ถ้าไม่เช่นนั้น คุณจะได้กินมังคุด"เนื้อแก้ว" หรือมันช้ำนั่นเอง จากนั้นอย่าลืมดูจำนวนยอดเกสรตัวเมียที่กระจุกอยู่ก้นลูก เลือกที่มีจำนวนมากไว้ครับ เหตุผลสำคัญไม่ใช่ว่าจะได้กินเนื้อหลายกลีบ แต่การที่มีจำนวนกลีบเยอะนี้จะช่วยลดจำนวนเม็ดลงได้ครับ เราจะได้กัดไปอย่างสบายใจไม่มีความขมของเม็ดออกมา นอกจากนี้ในภาคใต้เอง เขาก็จะเอามังคุดระยะสายเลือด (ห่ามๆ เนี่ยแหละครับ) ปอกเปลือกแล้วเสียบไม้กินกัน อร่อยไปอีกแบบ ในมาเลเซียเขาจะเอาส่วนเนื้อที่ไม่มีเมล็ดมาทำแยม ส่วนในฟิลิปปินส์จะเอามาเชื่อม เขาบอกว่าถ้ามีเม็ดอยู่ด้วยจะยิ่งอร่อยในบางพื้นที่ จะเอาเม็ดมาคั่วหรือต้มกินกันเหมือนเม็ดมะขาม เม็ดขนุนในบ้านเราครับ บางที่ยังเอามาบรรจุกระป๋องขายอีกต่างหาก และในหลายๆ ที่ก็นิยมนำมาทำน้ำมังคุดบรรจุขวดขายกันเป็นล่ำเป็นสันเลยครับ ยอดเกสรตัวเมียจะไม่หลุดไปเมื่อรังไข่เริ่มเจริญเป็นผลที่มีขนาดใหญ่ ยอดเกสรตัวเมียที่เป็นแฉกนี้จะบ่งบอกถึงจำนวนกลีบภายในลูกครับ เปลือกผล: ปัจจุบันมีเครื่องสำอางค์มากมายที่นำเอาสารสกัดจากเปลือกมังคุดมาใช้เช่น สบู่เปลือกมังคุดที่ช่วยปรับกลิ่นเต่า รักษาโรคผิวหนัง สิวฝ้า นอกจากนี้เปลือกมังคุดยังมีประโยชน์ในการแก้ท้องเสีย แก้หนอง รักษาแผล (เช่นแผลผุพอง แผลเน่าเปื่อย) และลดการอักเสบอีกด้วย ในเปลือกมังคุดยังมีสารแทนนิน (tannin) ที่มีฤทธิ์สมานแผลทำให้แผลหายเร็วขึ้น นอกจากนี้ในเปลือกสุกยังมีอนุพันธ์ของสารพอลิไฮดร็อกซี-แซนโทน (polyhydroxy-xanthone) ที่ชื่อ แมงโกสติน (mangostin) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลากเกลื้อน นอกจากนี้อนุพันธ์ของแซนโทนชื่อ แมงโกสติน-อี (mangostin-e), 6-ได-ออร์โธ-กลูโคไซด์ (6-di-O-glucoside) มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางและช่วยเพิ่มความดันเลือดอีกด้วย ขอบคุนข้อมูลจาก : http://www.bloggang.com |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น